ออกกฎใหม่ ห้ ามตำรวจทางหลวง ปรับที่ด่ าน
ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)
วันที่ 9 พ.ย. พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก. เปิดเผยภายหลังการหารือปรับปรุงการทำงานรอบสัปดาห์กับรอง ผบช.ก.และ ผบก.ในสังกัด ว่า
ขณะนี้จุดอ่อนของตำรวจในสังกัด คือ กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) เพราะต้องตั้งด่านและสัมผัสกับประชาชน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ
เนื่องจากการเขียนใบสั่งหน้าตู้บริการหรือจุดบริการทางหลวง ต่างกับหน่วยงานอื่นๆ
ที่สร้างผลงานการจับกุมช่วยเหลือประชาชนจนเป็นจุดแข็งของหน่วยงาน จึงเป็นประเด็นต้องทำอย่างไรกับตำรวจทางหลวง
ทั้งนี้ ได้เรียก พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล.คนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งเข้ามาหารือ เพื่อให้ไปคิดค้นหาทางแก้ไข
พล.ต.ท.ต่อศักดิ์กล่าวต่ออีกว่า เบื้องต้นได้แนวคิดแก้ไขจุดบริการทางหลวง หรือจุดที่ตั้งด่าน ไม่ต้องมีการปรับเงินสดอีกต่อไป
เพื่อป้องกันการยัดเงินตำรวจ แต่จะให้ออกใบสั่งเพียงอย่างเดียว ไม่ให้เปรียบเทียบปรับตรงจุดนั้น เพราะเสี่ยงต่อการเรียกรับเงินหรือเป็นเหยื่อในโลกโซเชียล
ที่อาจจะถ่ายคลิปอ้างว่าตำรวจเรียกรับเงิน จากนี้ไปจุดออกใบสั่งกับจุดเปรียบเทียบปรับจะอยู่ห่างกันออกไปประมาณ 2 กม. ซึ่งจุดเปรียบเทียบปรับจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดอย่างน้อย 3 ตัว
เมื่อประชาชนถือใบสั่งเข้ามาจะเข้าสู่กระบวน-การตรวจสอบประวัติตามระบบหมายจับ จากนั้นจะให้ตำรวจอธิบายข้อหาที่กระทำความผิด
อาทิ ขับรถเร็ว เปลี่ยนช่องทาง ฝ่าฝืนเครื่องหมายหรือข้อหาอื่นๆ จากนั้นหากเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกก็จะว่ากล่าวตักเตือน
พร้อมกับจัดเก็บข้อมูลไว้ หากพบเป็นการทำผิดซ้ำครั้งที่สองจึงจะดำเนินการ
ขณะนี้ผู้บังคับการตำรวจทางหลวงอยู่ระหว่างหารายละเอียด และวิธีการที่ประชาชนจะได้รับความสะดวกอย่างดีที่สุด
ส่วนข้อมูลที่บันทึกไว้นั้นจะเป็นข้อมูลที่ออนไลน์ทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมในการขับขี่ของผู้กระทำความผิด
โดยเน้นว่ากล่าวตักเตือนหากทำผิดครั้งแรก ไม่ใช่จ้องจะเปรียบเทียบปรับแต่อย่างเดียว
พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า นี่คือการแก้ไขปัญหา เซตซีโร่การตั้งด่านของตำรวจทางหลวงทั่วประเทศ
พื้นที่บริเวณที่เสียค่าปรับนั้นนอกจากจะมีตำรวจในเครื่องแบบแล้ว จะให้มีนักศึกษาฝึกงานเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วย
ไม่ใช่ให้นักศึกษาไปทำงานอื่น เช่น แกะข้าว ชงกาแฟ แต่ต้องได้ทำงานจริงและให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในส่วนบริการตรงนี้ด้วย
เพราะนักศึกษาฝึกงานเหล่านี้จะสามารถรับอารมณ์จากชาวบ้านได้ดีกว่า
ที่สำคัญจะเป็นกระบอกเสียงของตำรวจในวันข้างหน้า เพราะนักศึกษา จะทราบว่าอาชีพตำรวจวันๆหนึ่งต้องเจอกับเหตุการณ์อะไรบ้างและจะได้ซึมซับความรู้สึกของตำรวจด้วย
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้พิจารณาจุดตั้งด่านใหม่ โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของจุดที่จำเป็นต้องมีด่าน
ไม่ใช่ ไปตั้งมั่ว ต้องอธิบายได้ เช่น ตั้งตรงจุดที่เกิดเหตุบ่อยที่สุด อันตรายที่สุด หรือเขตโรงเรียน เขตชุมชน เพื่อให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็วเป็นต้น
ทั้งนี้ ผบช.ก. สั่งปรับการทำงานตำรวจทางหลวงครั้งใหญ่
หลังเป็นจุดอ่อนของหน่วยงาน ชาวบ้านหน่ายสุด ด้วยการห้ามเปรียบเทียบปรับตรงหน้าด่านอีกต่อไป
ที่มา siamstreet